0

บทความ
2024-02-08 15:56:35
กระบวนการสร้างสรรค์ "ละครสัตว์แสนสนุก": การวางแผนอย่างพิถีพิถันสู่ความรุ่มรวยในรายละเอียด
กว่าจะเป็นหนังสือวิมเมลเล่าเรื่องด้วยภาพละเอียด กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ เปิดอ่านได้ไม่รู้เบื่อ นักเขียนทำอย่างไรบ้าง...
Share

คอนเซปต์หนังสือเล่าเรื่องด้วยภาพของโดโร เกอเบล กับเพเทอร์ คนอร์ นำเสนอสถานที่และตัวละครเอกใหม่ๆ อยู่เสมอ ก่อนจะมีเล่ม “ละครสัตว์แสนสนุก” ก็มี “ไปเที่ยวนอกบ้านกันเถอะ” (Der Ausflug) ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีเช่นกัน หนังสือเล่าเรื่องด้วยภาพเหล่านี้มีสีสัน ประณีต และมีชีวิตชีวา แม้แต่เด็กสองขวบก็ยังสนุกสนานไปกับหนังสือได้ ความรุ่มรวยในรายละเอียดคือผลจากการวางแผนอย่างพิถีพิถัน มีการบันทึกรายการว่าตัวละครต่างๆ ทำอะไรบ้าง แต่ละคนสวมใส่อะไร รองเท้าส้นสูงประดับด้วยหัวเข็มขัดหรือริบบิ้นรึเปล่า หมาปั๊กเผ่นหนีไปตอนไหนและที่ไหนที่เจ้าหมาตัวนี้ไปแอบอยู่


ขั้นตอนการวาดเองก็ซับซ้อน แบบร่างแรกวาดด้วยดินสอ แล้วจึงสแกนภาพเข้าไปลงสีในคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็พิมพ์ออกมา แล้วก็วาดเส้นทับอีกครั้งด้วยมือเพื่อให้ภาพสมบูรณ์และไม่ดูสะอาดเหมือนวาดด้วยคอมพิวเตอร์จนเกินไป ต่อมาก็สแกนภาพกลับเข้าไปในคอมพิวเตอร์และแก้ไขด้วยคอมพิวเตอร์อีกครั้งเพื่อลบรอยผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ออกให้หมด อย่างที่คนอร์เล่าว่า เป็นไปได้เช่นกันที่ขณะทำงานกลับไปกลับมาทั้งหมดนี้ “จู่ๆ ก็มีขาเกินมาหนึ่งข้างท่ามกลางผู้ชมบนเวทีละครสัตว์” ซึ่งเพิ่งจะพบในวินาทีสุดท้ายตอนนับจำนวนทุกอย่าง


เกอเบลและคนอร์ใช้เวลา 7 เดือนทำหนังสือบอร์ดบุ๊กเล่มใหญ่อย่าง “ละครสัตว์แสนสนุก” และต้องรับมือกับสารพัดปัญหา เช่น ปัญหาเกี่ยวกับอัตราส่วนและขนาด อย่างเต็นท์ละครสัตว์ใหญ่เกินไปจนคนดูตัวเล็กเกินไปมาก นอกจากนี้ ก็ต้องตัดสินใจเรื่องแฟชั่นด้วย เลยมีการเปลี่ยนจากต่างหูครีโอลในตอนแรกไปเป็นต่างหูหลากสีแทน


หนังสือภาพที่ดีเลิศสักเล่มจะไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ แต่เป็นที่ชื่นชอบของพ่อแม่ที่จะเอาหนังสือกลับมาเปิดดูแล้วเปิดดูอีกด้วย “ละครสัตว์แสนสนุก” เองก็เป็นหนังสือแบบนั้น




ตัดตอนเรียบเรียงจากบทความของ มารีอันเนอ เวลเลอร์สฮอฟฟ์ ในนิตยสารออนไลน์ Spiegel Kultur

https://www.spiegel.de/kultur/literatur/wimmelbuecher-eltern-die-auf-ziegen-starren-a-755877.html